แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยระบบน้ำหมุนเวียน
น้ำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำเกษตร สำหรับประเทศไทยเราเอง มีความต้องการใช้น้ำ 120,000-150,000 ล้าน ลบ.ม. ต่อปีเลยทีเดียว ขณะที่แหล่งเก็บน้ำของประเทศไทยเรานั้นมีความจุเพียงแค่ 80,000 ล้าน ลบ.ม. เก็บน้ำได้จริงเพียง 40,000 ล้าน ลบ.ม. และมีแนวโน้มจะลดลงในทุกๆปีเลยทีเดียว
วันนี้เรามาหาทางออกกันต้องบอกว่าทางรอดจากภัยแล้งอย่างยั่งยืน คือ การทำ “ระบบน้ำหมุนเวียน” ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้ร่วมกันส่งเสริมชุมชนให้เรียนรู้การจัดการน้ำด้วยตนเอง
จนเกิดเป็นชุมชนตัวอย่างที่แก้ปัญหาสำเร็จ ช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร สร้างอาชีพมั่นคง รายได้ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง และรอดพ้นวิกฤตภัยแล้ง สามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี
วันนี้ของยกตัวอย่างชุมชนดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหญ่ที่สุดของไทย เชื่อไหมครับว่า ทั้งตำบลมีเงินออมรวมกันกว่า 480 ล้านบาท ด้วยการจัดทำเขื่อนใต้ดิน 2,000 บ่อสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อการเพาะปลูก และขุดบ่อน้ำตื้น สูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้น้ำหมุนเวียนในครัวเรือน
อีกหนึ่งตัวอย่างคือชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต จังหวัดขอนแก่น จากที่เคยแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี พื้นดินเก็บน้ำไม่ได้ เมื่อเรียนรู้การจัดการน้ำ ศึกษาการทำแผนที่น้ำตามระดับสูงต่ำของพื้นที่จ่ายน้ำ จากแหล่งน้ำที่อยู่สูงที่สุด ไปยังแหล่งน้ำระดับต่ำกว่าลงไป ใช้น้ำหมุนเวียนซ้ำ จากมวลน้ำเดิมตั้งแต่ต้น ทำให้มีน้ำพอใช้ไปอีกอย่างน้อย 4 ปี แม้ฝนจะตกน้อย
สำหรับภาคเหนือนั้นก็มีชุมชนบ้านสาแพะเหนือ จังหวัดลำปาง ที่พลิกชีวิตที่เคยมีหนี้สินท่วมท้น สู่ชุมชนมีน้ำเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ทำบ่อพวงคอนกรีต กระจายน้ำจากบ่อพวงเข้าพื้นที่เกษตร สร้างวังเก็บน้ำและฝายใต้ทราย สูบน้ำหมุนเวียน ทำการเพาะปลูกได้หลายรอบ สร้างรายได้ 11 ล้านบาทในช่วง 3 เดือน
สำหรับข้อเสนอการแก้ปัญหากันครับ
1 คือการสนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตนเองได้ เรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี สร้าง ”ระบบน้ำหมุนเวียน” ให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ละชุมชน รวมทั้งเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ด้วยการขุดลอก แหล่งน้ำที่ตื้นเขิน
2 อยากชวนภาครัฐร่วมขยายผล “ระบบน้ำหมุนเวียน” ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลกในที่สุดประเทศไทยจะได้เจริญก้าวหน้า